ไวรัสโรต้า-ไวรัสโนโร ระบาดหนักทำ “เด็กเล็กกทม.” ติดเชื้อไวรัสลงกระเพาะ 13,000 คน

เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2561 นพ.เมธิพจน์ ชาตะเมธีกุล ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคติดต่อ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า ไวรัสลงกระเพาะ หรือท้องเสียจากเชื้อไวรัส มักพบบ่อยเมื่อเข้าสู่ช่วงหน้าหนาวของทุกปี โดยปกติแล้วไวรัสที่ทำให้เกิดโรคท้องเสีย 4-5 ชนิด สถิติในปี 2560 มีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ในกรุงเทพมหานครท้องเสียประมาณ 13,000 คน สาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจาก ไวรัสโรตา กับไวรัสโนโร โดยไวรัสโรตาจะเข้าสู่ร่างกายด้วยการกิน การแพร่กระจาย จาก ไอ จาม น้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะที่มีเชื้อไวรัสดังกล่าวจะออกมาด้วย และเกาะอยู่บริเวณตามบริเวณ ต่างๆ เช่น อาหาร ลูกบิดประตู ของเล่นเด็ก ของใช้ส่วนรวม ฯลฯ เมื่อมีคนมาจับสิ่งของเหล่านั้นแล้วไม่ได้ล้างมือ ต่อมามาจับอาหารทานต่อเชื้อก็เข้าสู่ระบบทางเดินอาหารทำให้เกิดอาการไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร จากนั้นติดเชื้อไปยังกระเพาะอาหาร เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียนอย่างรุนแรง และเมื่อเชื้อเดินทางถึงลำไส้ทำให้เกิดอาการท้องเสียตามมา สภาพอากาศเย็น  ทำให้เชื้อไวรัสเหล่านี้อยู่ในอาหารและสภาพแวดล้อมได้นานขึ้น เมื่อกินอาหารที่ไม่ผ่านการปรุงสุก ไม่ได้ใช้ช้อนกลาง เมื่อทานอาหารร่วมกับผู้ติดเชื้อ อาจติดเชื้อไวรัสนี้ได้ 

 

นพ.เมธิพจน์ กล่าวอีกว่า สำหรับกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อไวรัสโรต้า คือ กลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และพบมากที่สุดในเด็กเล็กต่ำกว่า 3 ปี ฉะนั้น ผู้ปกครองต้องทำความสะอาดของเล่นเด็กด้วยอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ส่วนตามสถานที่ที่เป็นแหล่งรวมเด็กเล็กต้องทำความสะอาดสิ่งของและของเล่นทุกวัน ด้วยน้ำผงซักฟอกและนำไปตากแดด สถานที่พบเชื้อมากที่สุด คือ สถานรับเลี้ยงเด็ก โรงเรียนอนุบาล และบ้านบอล ส่วนไวรัสโนโร มักพบในเด็กโตและผู้ใหญ่ สาเหตุจากการรับประทานอาหารที่ไม่ผ่านการปรุงสุก เช่น ผักสด  แซนวิช ขนมปัง เค็ก หอยนางรมสด อาหารเหล่านี้เมื่อมีการปนเปื้อนของเชื้อไวรัสโนโรแม้เพียง 10 ตัวก็อาจก่อให้เกิดโรคได้ ผุ้ที่เคยป่วยแล้วจะมีภูมิคุ้มกันอยู่ 2-3 เดือนเท่านั้น ดังนั้นจึงมักพบผู้ป่วยท้องเสียจากเชื้อไวรัสโนโรซ้ำได้บ่อยครั้ง

นพ.เมธิพจน์กล่าวถึงการรักษาอาการในเบื้องต้นว่า ปัจจุบันยังไม่มียารักษาเฉพาะ จะรักษาตามอาการ เมื่อพบว่าตนเองมีอาการเข้าข่ายติดเชื้อไวรัสดังกล่าว หากเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ไข้ปวดศรีษะ ให้ทานเกลือแร่ทดแทนการขาดน้ำในร่างกายทันที ในผู้ใหญ่ยังไม่อันตรายมากนักหากทานเกลือแร่ใด้เพียงพอ แต่ในเด็กเล็กอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้ เนื่องจากร่างกายมีการสำรองปริมาณน้ำในปริมาณไม่มากนัก หากอาเจียนสัก 3-4 ครั้งอาจทำให้ร่างกายขาดน้ำอย่างรุนแรง และเสียชีวิตได้ ดังนั้นการป้องกัน จึงต้องหมั่นกินอาหารที่ผ่านการปรุงสุกร้อน ใช้ช้อนกลาง และล้างมืออย่างสม่ำเสมอ

“หากเด็กมีอาการอาเจียนมาก ผู้ปกครองควรป้อนอาหารอ่อน น้ำสะอาด นมหรือน้ำหวาน โดยให้ในปริมาณน้อยๆ ก่อน เช่น การใช้ช้อนชา หรือหลอดฉีดยาป้อน ไม่ควรสัมผัสกับมือโดยตรง พยายามป้อนอาหารครั้งละน้อยๆ รอดูอาการสัก 5-10 นาทีหากไม่อาเจียนค่อยป้อนเพิ่มตามเข้าไป จะสังเกตได้ว่าเด็กมีอาการดีขึ้นจะเริ่มอยากทานอาหาร หากพบผู้ป่วยมีอาการแย่ลง กินอาหารน้ำไม่ได้และอาเจียนหรือท้องเสียมากขึ้นปัสสาวะสีเข้มซึมสับสนอ่อนเพลียให้รีบส่งพบแพทย์ทันที” นพ.เมธิพจน์ กล่าว 

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันวัคซีนโรต้า ที่ขึ้นทะเบียนจำหน่ายในประเทศไทยเป็นวัคซีนสำหรับเด็กเล็ก ให้โดยการรับประทาน เป็นวัคซีนชนิดเชื้อเป็นมี 2 ชนิด คือวัคซีน RotaTeq ผลิตโดยจากประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นวัคซีนที่ผลิตจากการรวมตัวกันของเชื้อไวรัสจากมนุษย์กับวัว (bovine-human reassortant pentavalent live-attenuated oral vaccine) มีไวรัสที่ทำให้อ่อนฤทธิ์ 5 สายพันธุ์ คือไวรัสโรต้าซีโรทัยป์ G1, G2, G3, G4 และ P1A ใช้ในเด็กอายุตั้งแต่ 6 สัปดาห์จนถึง 32 สัปดาห์ ให้จำนวน 3 โด๊ส เริ่มให้โด๊สแรกช่วงอายุ 6-12 สัปดาห์ และโด๊สต่อมาให้ห่างกัน 4-10 สัปดาห์ และวัคซีน Rotarix ผลิตจากประเทศเบลเยียม เป็นวัคซีนที่ผลิตจากไวรัสโรต้าสายพันธุ์จากมนุษย์ที่ถูกทำให้อ่อนฤทธิ์แล้ว (human-derived monovalent live-attenuated oral vaccine) ใช้ในเด็กเล็กอายุตั้งแต่ 6 สัปดาห์ขึ้นไป ให้จำนวน 2 โด๊ส แต่ละโด๊สห่างกันไม่น้อยกว่า 4 สัปดาห์ โด๊สสุดท้ายควรให้เมื่ออายุไม่เกิน 24 สัปดาห์

นายแพทย์สุขุม กล่าวต่ออีกว่า สถาบันชีววัตถุ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นหน่วยงานควบคุมคุณภาพวัคซีนที่ใช้ในประเทศ ได้มีการตรวจสอบคุณภาพวัคซีนป้องกันโรคท้องร่วงที่เกิดจากไวรัสโรต้า ทั้ง 2 ชนิด ทางห้องปฏิบัติการตั้งแต่ขั้นตอนของการขึ้นทะเบียนในด้านของความแรงในการป้องกันโรค ความปลอดภัย และคุณสมบัติทางเคมี-ฟิสิกส์ ตามข้อกำหนดมาตรฐานของวัคซีนที่สอดคล้องกับเกณฑ์ข้อกำหนดขององค์การอนามัยโลก สำหรับการรับรองรุ่นการผลิต ได้ตรวจสอบข้อมูลการผลิต การควบคุมคุณภาพของผู้ผลิต การควบคุมอุณหภูมิในการเก็บและระหว่างการขนส่ง ร่วมกับตรวจคุณลักษณะทางกายภาพจากห้องปฏิบัติการของสถาบันชีววัตถุ พบว่าคุณภาพวัคซีนของผู้ผลิตทั้ง 2 ยี่ห้อ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 ถึงปัจจุบัน เป็นไปตามข้อกำหนด ไม่พบสิ่งผิดปกติ จึงมั่นใจได้ว่าวัคซีนที่ใช้ในประเทศมีคุณภาพและความปลอดภัยต่อผู้บริโภค

อย่างไรก็ดี วัคซีนโรต้าใช้สำหรับเด็ก ยังไม่มีการใช้ในผู้ใหญ่ การป้องกันเบื้องต้นสามารถทำได้โดยการจัดการสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมในบ้าน สถานที่ทำงาน รับประทานอาหารที่สะอาดร้อน เตรียมเสร็จใหม่ และล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ

“สำหรับกรณีที่เป็นข่าวว่า มีการใช้วัคซีนโรต้าที่ทำให้เกิดภาวะลำไส้กลืนกันนั้น ขอย้ำว่า วัคซีนโรต้าที่ทำให้เกิดอาการดังกล่าว ได้มีการจำหน่ายและใช้ในอดีต ระหว่างปี พ.ศ.2541-2542 เป็นวัคซีนป้องกันโรคไวรัสโรต้าชนิด Rhesus-human reassortant tetravalent vaccine (RotashieldTM) แต่ต่อมาพบว่า วัคซีนชนิดนี้สัมพันธ์กับการเกิดภาวะลำไส้กลืนกัน (intussusception) จึงได้หยุดจำหน่ายไป จึงไม่มีใช้ในประเทศ หากมีการนำเข้ามาใช้ในประเทศจะต้องมีการรับรองรุ่นการผลิตโดยสถาบันชีววัตถุ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ก่อนจำหน่ายทุกครั้ง จึงมั่นใจได้ว่าไม่มีวัคซีนชนิดนี้จำหน่ายในประเทศไทยอย่างแน่นอน” นายแพทย์สุขุม กล่าวทิ้งท้าย

เครดิต : Tnews

สุโสมณี พานทอง คือ 34 และเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมครอบครัว เธอจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในปี 2554 เธอเป็นเจ้าของและดำเนินงานด้านการปฏิบัติของเธอเองและช่วยเหลือชาวบ้านในชุมชนบ้านเกิดของเธอ เธอแต่งงานโดยไม่มีลูก แต่สนุกกับการใช้เวลาให้กับเมืองของเธอในฐานะเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่ได้รับการเลือกตั้ง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *