“ปริญญา” เตือน! “บิ๊กตู่” อย่าเป็นนายกคนนอก เสี่ยงเกิดความขัดแย้งรุนแรง
ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตนกุล แนะพล.อ.ประยุทธ์” อย่าเป็นนายกฯนอกบัญชี เชื่อจะเป็นได้ไม่นาน เตือนเป็นผู้คุ้มกฎ อย่าถลำลึกลงเป็นผู้เล่น จะเสี่ยงขัดแย้งรุนแรง
วันนี้(5 เม.ย.)ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการเสวนาหัวข้อ “นายกรัฐมนตรีคนนอก ตามรัฐธรรมนูญ 2560 และแนวโน้มการเมืองไทย ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตนกุล รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าตามรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้ระบุไว้ว่านายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. แต่ต้องเสนอบัญชีรายชื่อผู้ที่จะเสนอเป็นนายกรัฐมนตรี 3 ชื่อ และในมาตรา 272 วรรค 2 หากโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีรอบแรกไม่ได้ ก็เปิดช่องให้เอาคนนอกบัญชีที่พรรคเสนอมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ โดยมี ส.ว.เป็นกลไกสำคัญ กล่าวคือ หาก คสช.อยากกลับมาเป็นนายก จะมีสองทางเลือก คือ หนึ่ง ในบัญชีพรรคการเมือง และมารอบสองหลังรัฐสภาเลือกในบัญชีไม่ได้ โดยทางนี้จะใช้จำนวนส.ส.เพียง 126 เสียง เนื่องจากมีส.ว.ในมือ 250 เสียง ซึ่งช่องทางนี้ไม่น่าจะยาก ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี แต่จะมีปัญหาว่าอยู่ไม่ได้ ดังนั้นหากมีเสียงส.ส.ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ก็จะถูกปลดได้ จากมติไม่ไว้วางใจ และงบประมาณก็ไม่ผ่านสภา ดังนั้นหากนายกรัฐมนตรีต้องการจะเป็นนายกรัฐมนตรี จะต้องมาในรอบแรก และเมื่อดูเสียงส.ส.แล้ว พรรคภูมิใจไทยกับพรรคชาติไทยพัฒนา รวมกับพรรคใหญ่พรรคไหน เกิน 250 คนแน่นอน ได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาลแน่นอน แต่จะสนับสนุนใครเป็นนายกรัฐมนตรีจะต้องติดตาม และต้องดูว่าพรรคใหม่ที่ตั้งขึ้นมาจะมีศักยภาพแค่ไหน ซึ่งทั้งหมดจะชัดเจนได้ในเดือนพฤษภาคม หลังการยืนยันสมาชิกพรรคการเมืองเสร็จในเดือนเมษายนนี้
นายปริญญา กล่าววว่า การส่งพรป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย มีประเด็นว่าบทบัญญัติใดที่ขัดและแย้งรัฐธรรมนูญในสาระสำคัญ จะทำให้ร่างกฎหมายนั้นตกไป ซึ่งเท่ากับว่าเงื่อนไขต้องเลือกตั้งใน 150 วันก็จะเริ่มไม่ได้ เท่ากับคสช.และรัฐบาลชุดนี้ยังอยู่ในอำนาจต่อ และขยับการเลือกตั้งออกไป ซึ่งประเด็นนี้ขอเตือนว่าไม่เป็นผลดีต่อบรรยากาศการเมือง ทั้งนี้ขอย้ำว่าคสช.เข้ามาเพื่อมากำหนดกติกาและบอกว่าจะปฏิรูปประเทศ แต่หากดูพฤติกรรมในช่วงหลังดูเหมือนว่าจะลงมาเป็นผู้เล่น ซึ่งหากเป็นเช่นนี้จะไม่เป็นผลดีกับตัวของคสช.เอง และขอเตือนว่า หากเลือกมาเป็นนายกรัฐมนตรี นอกบัญชีจะมีปัญหาตามมาแน่นอน ซึ่งมีกรณีของอดีตนายกรัฐมนตรีอาทิ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ให้เห็นแล้ว ดังนั้นคสช.อย่าถลำลึกไปมากกว่านี้ และวิธีการที่ดีที่สุดคือปล่อยให้ประชาชนปกครองตัวเองและตัดสินอนาคตตัวเองอีกครั้ง และถ้าประชาชนตัดสินใจอย่างไร ยอมรับตามนั้น อย่าหวังว่าเลือก ส.ว.เพราะหวังว่าจะเลือกตัวเองมาเป็นนายกรัฐมนตรี โดยปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ ส.ว.ตัดสินใจกันเอง เชื่อว่าจะไม่มีความขัดแย้งในช่วง 5 ปีแรก
รศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์ คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมชาติ กล่าวว่า หากย้อนกลับไป 60 ปี น่าจะมีนายกรัฐมนตรีคนนอกในระยะเวลาเกินกว่าครึ่ง ดังนั้น
สังคมไทยในยุคเก่าอาจจะคุ้นชิน แต่คนเจนเนอเรชั่นใหม่หลังปี 2535 อาจจะไม่คุ้นชิน เพราะคุ้นชินกับการเลือกตั้งอย่างไรก็ตามเชื่อว่า นายกรัฐมนตรีคนนอกสามารถอยู่ได้ หากเล่นการเมือง โดยสามารถดึงกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ หรือกลุ่มชนชั้นนำในสังคมที่มีหลากหลายมาสนับสนุนได้ ก็สามารถอยู่ได้นานพอสมควร แต่ในทางกลับกันหากไม่เอาใครเลย เอาแต่พรรคพวกตัวเอง และทหาร ก็จะอยู่ลำบาก และเกิดแรงกระเพื่อมได้ เพราะโดยปกตินายกรัฐมนตรีที่มาจากเลือกตั้และสภา น่าจะดูแลผลประโยชน์ของส.ส.ในสภาและดูแลประชาชนพอสมควร ไม่เช่นนั้นก็จะไม่ได้รับเลือกกลับเข้ามาเป็นส.ส. แต่หากเป็นนายกรัฐมนตรีคนนอก ต้องดูว่านายกฯคนนอกมาจากไหน มาด้วยวิธีการอะไร หากมาจากสภาให้ความเห็นชอบ อย่างน้อยก็ต้องดูแลส.ส.พอสมควร แต่ถ้ามาจากคณะรัฐประหาร จะต้องถามคณะรัฐประหารว่าจะเอาอย่างไร จึงไม่เชื่อว่านายกรัฐมนตรีที่มาจากคณะรัฐประหารจะตัดสินใจด้วยตัวเอง 100%
“นายกฯที่มาจากกองทัพ ต้องมองไปที่กองทัพว่ากองทัพจะสนับสนุนตัวเองหรือไม่ ตราบที่ยังได้รับการสนับสนุนจากกองทัพก็โอเค และอีกกลุ่มคือกลุ่มข้าราชการประจำ ซึ่งเป็นกลุ่มผลประโยชน์ที่ใหญ่มาก เพราะรัฐมนตรีต้องมาจากผู้นำระดับสูง ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกระทรวง เพราะฉะนั้นจะทำให้กลุ่มคนที่เป็นรัฐบาลคนนอกต้องดูแลผลประโยชนของคนไม่กี่กลุ่ม คือข้าราชการประจำ และกองทัพ ซึ่งในอดีตความหลากหลาย กลุ่มคนที่ตื่นตัวมีไม่มาก อยู่ได้ ตราบที่ทุกอย่างได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม แต่เมื่อสังคมพลวัตรสูงขึ้น มีความหลากกลายมากขึ้น กลุ่มคนใหม่ ๆ มีบทบาท มีพลังทางการเมืองมากขึ้น กลุ่มทุน กลุ่มธุรกิจ กลุ่มนักวิชาการ กลุ่มภาคประชาสังคม ดังนั้นนายกฯคนนอกหากยังคงให้ความสำคัญกับคนเพียงไม่กี่กลุ่ม ก็จะอยู่ในตำแหน่งได้ลำบาก” รศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ กล่าว
รศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ ยังตั้งข้อสังเกตรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ว่าเป็นการปูทางให้คสช.ไปสู่อำนาจอีกครั้ง และเชื่อว่าคสช.น่าจะมีบทบาทไม่มากก็น้อยในการจัดตั้งรัฐบาล แต่รายชื่อของคนที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีมาจากคนนอก เชื่อว่าจะอยู่บริหารประเทศยากมาก เพราะประชาชนคาดหวังว่าประชาธิปไตยจะเดินไปข้างหน้า และเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น แต่ถ้าถามว่าใครเหมาะสมว่าควรจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป แล้วเป็นที่ยอมรับของฐานของประชาชนอย่างกว้างขวาง และจะทำให้ความขัดแย้งคลี่คลาย ซึ่งยังนึกไม่ออก และหายากมาก ถือเป็นเรื่องน่าเป็นห่วง ดังนั้นหากเป็นคนจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งขึ้นมา ความขัดแย้งก็จะยังคงอยู่
ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่านายกรัฐมนตรีคนนอกบัญชีโอกาสถูกคัดค้านจากสังคมมาก ดังนั้นต้องเข้ามาอยู่ในบัญชี ซึ่งต้องจับตาดูว่าพรรคการเมืองใดจะกล้าเสนอชื่อ และพล.อ.ประยุทธ์จะกล้าเซ็นยินยอมประกาศตัวเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ เพราะเชื่อว่าน่าจะส่งผลกระทบต่อคะแนนเสียง
Cr.Springnews
สุโสมณี พานทอง คือ 34 และเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมครอบครัว เธอจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในปี 2554 เธอเป็นเจ้าของและดำเนินงานด้านการปฏิบัติของเธอเองและช่วยเหลือชาวบ้านในชุมชนบ้านเกิดของเธอ เธอแต่งงานโดยไม่มีลูก แต่สนุกกับการใช้เวลาให้กับเมืองของเธอในฐานะเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่ได้รับการเลือกตั้ง